การวางท่อระบายน้ำคอนกรีตนั้นมีความสำคัญ และมีขั้นตอนต่างๆ ที่ควรคำนึงถึง เนื่องด้วยเป็นงานซึ่งวางฝังใต้พื้นดินพื้นถนน ซึ่งเมื่อวางฝังแล้วหากเกิดข้อผิดพลาดจะแก้ไขได้ยาก และหากวางไม่ถูกต้องน้ำอาจระบายได้ไม่ดีเท่าที่ควร อันเป็นสาเหตุของน้ำท่วมขัง หรือหากทำไม่ถูกหลักการ อาจทำให้เกิดการชำรุดเสียหายขึ้นได้ในภายหลังเช่นกัน เราจึงควรให้ความสำคัญกับการวางท่อระบายน้ำเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทีอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ขั้นตอนการวางท่อระบายน้ำ มีดังนี้คือ
1. ขุดคูร่องสำหรับ ท่อคอนกรีต ให้ความกว้างคูร่องห่างจากข้างท่อคอนกรีต ประมาณ 30 ซม. เพื่อเป็นช่องว่างสำหรับทรายถม โดยขุดคูร่องให้ให้มีความลึกตามความลาดชัน (SLOPE) 1:200 หรือความลาดชันที่เหมาะสมกับหน้างานตามที่วิศวกรกำหนด หลังจากนั้นให้บดอัดพื้นคูร่องให้แน่น
2. รองพื้นคูร่องด้วยทรายหยาบ หนา 5 ซม. บดอัดทรายหยาบให้แน่น จากนั้นจึงเทพื้นรองท่อ หนา 10 ซม. ด้วยคอนกรีตหยาบ 1:3:5 (ปูนซิเมนต์ 1 ส่วน : ทราย 3 ส่วน : หิน 5 ส่วน) โดยเทให้ได้ความลาดชันที่วิศวกรกำหนด
3. วางท่อบนพื้นรองท่อ เริ่มวางจากระดับต่ำไปหาระดับที่สูงกว่า โดยท่อท่อนแรกให้หันด้านรางเข้าด้านที่รับน้ำ ส่วนท่อนที่สองให้ใช้ด้านที่เป็นลิ้นสวมเข้ากับด้านที่เป็นรางของท่อแรก สวมท่อนต่อๆไป จนบรรจบกับ บ่อพักคอนกรีต
4. ยาแนวรอยต่อท่อ ด้วยปูนทราย (MORTA) 1:2 (ปูนซิเมนต์ 1 ส่วน : ทราย 2 ส่วน) โดยให้ปูนทรายยาแนว กว้าง 12 ซม. หนา 5 ซม. หลังยาแนวเสร็จทิ้งให้แห้ง เป็นเวลา 3 วัน จึงเริ่มทำการถมท่อคอนกรีตด้วยทรายถมต่อไป
5. ถมทรายข้างท่อและหลังท่อด้วยทรายถม โดยถมและบดอัดเป็นชั้นๆ ไปตามแนวยาวของท่อคอนกรีต โดยถมชั้นๆ ชั้นละไม่เกิน 15 ซม. และทรายที่ถมหลังท่อคอนกรีตก่อนเทพื้นถนน ต้องสูงจากหลังท่อคอนกรีต ไม่น้อยกว่า 40 ซม. แต่ไม่เกิน 3 ม.